Category Archives: บทความเสริมพัฒนาการ

5 วิธีแก้ปัญหาลูกพูดติดอ่าง

อาการพูดติดอ่างสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม โรคต่างๆ การเลี้ยงดู โดยปกติเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมักมีอาการนี้ได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลใจเกินไปนัก ยกเว้นในกรณีเด็กพูดติดอ่างบ่อยและมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกาย/ใบหน้าที่ผิดปกติ พบว่า 80% ของเด็กที่พูดติดอ่างมักจะหายได้เองเมื่อถึงวัยเข้าเรียน ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกติดอ่างให้หายจากอาการนี้ได้เร็วขึ้นด้วยวิธีต่อไปนี้

1. พุดคุยเล่นหัวกับลูก ให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ผ่อนคลายไม่กังวล หรืออายกับการพูดติดอ่าง

2. จัดบรรยากาศชวนสนุกสนาน อาจมีภาพที่ลูกวาดเองใส่กรอบโชว์ มีตุ๊กตา หรือมุมหนังสือโปรดของลูก ไม่ควรมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจของลูก เช่น ทีวี เกมคอมพิวเตอร์ เปิดเพลงเสียงดัง ฯลฯ ขณะทำกิจกรรมร่วมกับลูก

3. ไม่ขัดจังหวะเมื่อลูกยังพูดไม่จบประโยค ตั้งใจฟังและมองลูกด้วยสายตากระตือรือร้น ไม่แสดงความรู้สึกว่าต้องอดทนฟังหรือเบื่อหน่าย

4. ชวนลูกร้องเพลงด้วยกัน ควรเป็นเพลงจังหวะปานกลาง ฟังสบาย ไม่เร็วเกินไป จะช่วยให้ลูกสงบ มีสมาธิที่จะใช้พูดมากขึ้น

5. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดหรือไม่มั่นใจ เช่น ให้ลูกพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น

ที่สำคัญที่สุดคือ ความรักความอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่ที่มอบให้จะทำให้ลูกมั่นใจมากขึ้นและมีพัฒนาการที่ดีสมวัย อาการพูดติดอ่างก็จะค่อยๆ หายไปได้ค่ะ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

Check our bestsellers!

ทำอย่างไรให้ลูกอยู่นิ่งเป็น

การห้ามเด็กเล็กไม่ให้ซุกซนคงทำไม่ได้ (และไม่ควรทำอย่างยิ่ง) เพราะธรรมชาติของเด็กมักจะอยากรู้ อยากเห็น อยากลองทำ (ในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม) สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว เด็กบางคนซนจนได้เรื่อง อยู่ในห้องเรียนก็ก่อกวนเพื่อน ส่งเสียงดัง บางคนเล่นแรงกับเพื่อน กลายเป็นเด็กมีปัญหาการเข้าสังคม ไม่มีเพื่อนอยากเล่นด้วย  ถ้าอยากให้ลูกอยู่นิ่ง เชื่อฟังคำสั่ง คุณพ่อคุณแม่ลองทำตามวิธีเหล่านี้ได้ 

1. กำหนดเวลาเล่นให้ชัดเจน ว่าเวลาไหนเล่นได้ เวลาไหนต้องสำรวม เช่น อยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ หรืออยู่นอกบ้าน ถ้าลูกทำได้ตามข้อตกลง พ่อแม่ควรพูดชมเชยให้กำลังใจ  “วันนี้ลูกทำตัวน่ารัก แม่ภูมิใจในตัวหนูมากนะจ๊ะ”  โอบกอด  ปรบมือ ชูนิ้วโป้ง (ลูกเยี่ยมมาก) เด็กจะรับรู้ได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องดีแล้ว

2. ตั้งกติกาถ้าทำผิดจะเกิดอะไรขึ้น ตักเตือนก่อนในครั้งแรก หากลูกยังทำผิดซ้ำอาจลงโทษด้วยการงดกิจกรรมที่ลูกชอบ เช่น ดูการ์ตูน  เล่นของเล่น

3. ฝึกสมาธิผ่านการเล่น เช่น ต่อบล็อกไม้ ปริศนาอักษรไขว้ เล่นเกมจับผิดภาพ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ฝึกสมาธิให้จดจ่อ หรือหากิจกรรมกลางแจ้งที่ได้ออกแรง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก เป็นต้น

4. พูดคุยด้วยเหตุผลกับลูกอย่างใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์หรือลงโทษรุนแรง เมื่อลูกซนหรือไม่อยู่นิ่ง พยายามชี้ชวนอธิบายอย่างง่ายๆ  ถึงผลเสียที่ลูกเล่นซนว่าจะเกิดอะไรบ้าง ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

ความซุกซนเป็นธรรมชาติของเด็กที่อยากเรียนรู้  คุณพ่อคุณแม่อาจยืดหยุ่นบ้างตามสมควร แต่ก็ไม่ควรห้ามทุกเรื่อง เพราะอาจทำให้เด็กสูญเสียความกระตือรือร้นขาดจินตนาการ ขาดความมั่นใจได้

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

ลูกพลัดหลงควรทำอย่างไร

เหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ควรสอนลูก หากเกิดขึ้นให้พ่อแม่ตั้งสติแล้วแยกย้ายตามหาลูก รีบแจ้งประชาสัมพันธ์ของสถานที่นั้น หรือแจ้งตำรวจทันที โทร. 1599 แต่ทางที่ดีกว่านั้น คือเตรียมตัวและป้องกันก่อนจะเกิดเหตุขึ้นจริง สอนลูกให้ดูแลตัวเอง ดังนี้

1. จำชื่อ-นามสกุล ของตัวเอง ของพ่อแม่ให้ได้

2. จำที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่ให้ได้

3. เมื่อถึงสถานที่นั้นๆ ซักซ้อมกับลูกว่า ถ้าพลัดหลงให้หนูเดินไปรอที่ไหน (กรณีสถานที่เล็กๆ หรือเด็กจำทางได้)

4. ถ้าพลัดหลง สอนลูกให้รีบตะโกนดังๆ เรียกพ่อแม่ทันที

5.  ถ้าพลัดหลงแล้ว สอนลูกให้เดินไปหาพนักงานร้าน พ่อค้า แม่ค้า หรือ รปภ. หรือตำรวจ บอกว่า “หนูหลงทาง ช่วยโทรบอกพ่อแม่หนูเบอร์….ให้หน่อย”

6. ถ้าพลัดหลงแล้ว เจอคนแปลกหน้ามาชวนไปด้วย สอนลูกให้ตะโกน

“ช่วยด้วยๆ หนูหลงทาง คนนี้ไม่ใช่พ่อแม่หนู”

ถ้าสอนลูกไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ลูกจะยังมีสติ และช่วยเหลือตนเองได้ระดับหนึ่ง

 (ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

แก้ปัญหาลูกชอบพูดคำหยาบ

เด็กเล็กๆ ไม่ได้อยู่ดีๆ จะพูดคำหยาบได้เอง จุดเริ่มต้นมาจากเขาได้ยินได้ฟังแล้วนำมาพูดตาม เราจะพบบ่อยๆ เมื่อเด็กเริ่มเข้ากลุ่มเพื่อน เช่น เริ่มไปโรงเรียน ดูจากทีวี หรือคนรอบข้างพูด การแก้พฤติกรรมพูดไม่สุภาพของลูกจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เริ่มต้นจากวิธีดังต่อไปนี้

1. พ่อแม่เป็นตัวอย่างให้ลูก เพราะเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ตัวของเขา และแน่นอนว่าคนนั้นก็คือพ่อแม่นั่นเอง อยากให้ลูกพูดเพราะพ่อแม่ก็ต้องพูดเพราะก่อนค่ะ

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกดูทีวี โดยเฉพาะในเด็กเล็กมากๆ ไม่ควรให้ดูทีวี หรือคลิปต่างๆ ในโซเชียล เพราะง่ายมากที่ลูกจะได้ยินคำพูดหยาบคาย รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ถ้าจำเป็นต้องดูพ่อแม่ควรอยู่กับลูกด้วย เมื่อได้ยินคำไม่สุภาพก็อธิบายง่ายๆ ให้ลูกรู้ว่าไม่ควรพูดคำนั้น เพราะจะดูไม่น่ารัก ไม่มีใครชอบ

3. ตั้งกติกาไม่พูดคำหยาบ อาจทำเป็นข้อตกลงสนุกๆ ไม่ดูจริงจังจนเกินไป แต่ต้องปฏิบัติเคร่งครัด ว่าทุกคนในบ้านจะไม่พูดคำหยาบ ใครเผลอพูดจะถูกลงโทษ เช่น งดขนม 1 มื้อ งดออกไปเล่นนอกบ้าน 1 วัน หรืองดเล่นของเล่นช่วงเย็น เป็นต้น จุดประสงค์ของการลงโทษก็เพื่อให้ระวังมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องลงโทษรุนแรง

สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยหยุดพฤติกรรมพูดคำหยาบของลูกก็คือ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดให้ลูกนั่นเอง

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

อยากให้ลูกสอบได้ ทำยังไงดี

ผู้ปกครองส่วนใหญ่คาดหวังให้ลูกวัยอนุบาลได้เข้าเรียนโรงเรียนประถมดีๆ  มีชื่อเสียง และโรงเรียนสาธิตก็ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกได้เข้าเรียน และแน่นอนว่าต้องมีการแข่งขันกันสูง แม้ว่าถึงที่สุดแล้วโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งหลายจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้ลูกเก่ง ดี มีสุขก็ตาม แต่ถ้าอยากให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังกันจริงๆ พ่อแม่ก็ควรต้องเตรียมพร้อมวางแผนให้ลูกแต่เนิ่นๆ ดังต่อไปนี้             

1. ชวนลูกฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ  เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้ลูกด้วย แต่อย่าฝืนจนลูกรู้สึกไม่สนุกและไม่อยากทำ   แบ่งเวลาให้เหมาะสม เริ่มต้นจากใช้เวลาสั้นๆ ก่อน เช่น หลังเลิกเรียน หรือวันหยุด ไม่เกิน 15 นาที ไล่เรียงจากเรื่องง่ายไปยาก

2. ศึกษาแนวข้อสอบของปีที่ผ่านมา  หาข้อมูลจากเว็บไซต์หรือหนังสือรวมตัวอย่างแบบฝึกหัดต่างๆ ให้ลูกได้ลองทำโจทย์ที่หลากหลาย

3. ชวนลูกเข้าร้านหนังสือ ให้เขาเลือกหนังสือที่ชอบด้วยตัวเอง เพื่อสร้างพื้นฐานเรื่องการอ่าน สมาธิ และการคิดเป็นระบบ เพราะการอ่านและจับใจความสำคัญเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่จำเป็นมาก (จำเป็นและสำคัญมากกว่าการสอบได้-ไม่ได้ด้วยซ้ำ)

4. เตรียมร่างกายจิตใจให้พร้อม  ดูแลเรื่องอาหารการกิน และการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เคร่งเครียดเมื่อใกล้สอบ แต่ควรเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจ ผ่อนคลาย ไม่กังวลกับการสอบมากเกินไป        

5. สร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้  เมื่อลูกทำได้ให้ชม แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องให้กำลังใจ ไม่ต่อว่าหรือเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น     
 
สุดท้ายไม่ว่าผลสอบจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ใช่สิ่งตัดสินอนาคตทั้งหมดของลูก  สิ่งสำคัญกว่าการสอบได้หรือไม่ได้ก็คือ พ่อแม่ควรสร้างทัศคติที่ดีต่อการเรียนรู้ให้ลูก ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก เพราะคุณค่าของการเรียนรู้ไม่ใช่การสอบได้ แต่หมายถึงลูกคิดเป็น มีทักษะชีวิตที่ดี

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

งานบ้านช่วยให้ลูกฉลาดได้

ผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของ World Economic Forum (WEF) ในรายงาน The Global Competitiveness Report 2013-2014 ชี้ว่าประเทศไทยรั้งตำแหน่งบ๊วยในอาเซียน (ไม่นับลาวและพม่า) คงไม่ต้องสาธยายว่า ระบบการศึกษาไทยอยู่หลังเขาลูกที่เท่าไหร่ และปัญหาใหญ่ระดับชาติตอนนี้คือ เด็กไทยคิดไม่เป็น 

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเน้นให้ลูก 2-3 ขวบ อ่านเขียนให้ได้ หรือพาไปเรียนพิเศษ สิ่งจำเป็นคือ ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ผ่านกิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ 

1. เริ่มต้นให้คุณพ่อคุณแม่ร่วมทำกับลูก จากนั้นมอบหมายให้ลูกทำเอง โดยพ่อแม่ดูแลอยู่ห่าง ๆ เป็นการฝึกความรับผิดชอบ ฝึกแก้ปัญหา และรู้จักดูแลชีวิตผู้อื่น (ต้นไม้, สัตว์)

2. อาจมอบหมายให้ลูกเป็นคนให้อาหารสุนัข (มื้อเช้าและเย็น) และช่วยคุณพ่อคุณแม่อาบน้ำให้มันทุกวันหยุด ถ้ามีลูกหลายคนก็ยิ่งเหมาะลองให้เขาปรึกษาและแบ่งหน้าที่กันเองตามความสมัครใจ เป็นการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย

3. ให้ลูกช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เป็นประจำทุกวัน เพราะธรรมชาติของเด็กวัยนี้ชอบทำตามผู้ใหญ่ อย่ารำคาญหรือกลัวลูกลำบาก

4. พยายามสอนลูกผ่านการลงมือทำจริง มากกว่าสอนด้วยปากเปล่า เช่น มอบหมายให้ลูกทำหน้าที่รินน้ำใส่แก้วของทุกคนบนโต๊ะอาหาร, ให้ลูกช่วยเช็ดจานชามหลังล้างเสร็จ (ควรเป็นพลาสติก) ใส่รองเท้าเอง หิ้วกระเป๋าและสัมภาระไปโรงเรียนเอง ทำให้เป็นกิจวัตรทุกวัน

5. คอยสร้างบรรยากาศสนุกเฮฮา แนะนำลูกบ้างเล็กๆ น้อยๆ และต้องหมั่นชมให้กำลังใจ ลูกจะช่วยเหลือตัวเองเป็น ฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ด้วย

โดยรวมคือเน้นเรื่องจิตใจที่ดีและมีร่างกายแข็งแรง การเน้นวิชาการอย่างเดียวไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย จะทำให้มีความเครียดสูงและความคิดสร้างสรรค์ต่ำ กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ใส่วิธีการสอนให้เนียนเข้ากับความสนุกเท่านั้นเอง

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

ชมให้เป็น ลูกเก่งได้ไม่ยาก

สำหรับเด็กๆ แล้วคำชมมีความจำเป็นและสำคัญมากๆ ค่ะ ถ้าใช้ให้เป็น คำชมนี่แหละจะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีมากช่วยทำให้ลูกอยากทำซ้ำๆ (เพราะทำแล้วจะได้คำชมจากพ่อแม่) เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อลูกทำดีแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ทานข้าวเองได้ (ถึงจะหกเลอะเทอะบ้างหรือใช้เวลามากหน่อยก็ไม่เป็นไร) ไม่ฉี่รดที่นอน เข้านอนไม่งอแง ช่วยหยิบของให้ เก็บของเล่นเอง ฯลฯ หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือ ชมลูกทันทีเมื่อเขาทำได้ทำตัวน่ารัก และชมอย่างจริงใจ ไม่ใช่ชมพร่ำเพรื่อหรือเกินจริงเพราะเด็กก็มีเซ้นส์แยกแยะออก ว่าอันไหนเป็นคำชมจริงหรือแค่แกล้งชม และการชมให้ชมสิ่งที่ลูกทำ เช่น หนูเก็บที่นอนเองเก่งมากจ้ะ หรือหนูกินข้าวเองได้จนหมดชามเลยเก่งมากจ้ะ

สำหรับลูกวัยอนุบาลยิ่งถูกชมก็ยิ่งเป็นแรงเสริมที่ดีให้ลูกทำสิ่งนั้นบ่อยๆ จนเป็นนิสัยที่ดีติดตัวได้ แต่ในลูกวัยประถมที่เริ่มรู้เรื่องและเข้าใจมากขึ้น พ่อแม่ก็ต้องพิถีพิถันในการชมด้วย ให้เลือกชมในความพยายามของเขา เช่น ชมว่าลูกขยันทำโจทย์เลขจึงสอบได้คะแนนดี มากกว่าจะชมว่า ลูกเก่งมากที่สอบได้คะแนนดี สรุปหลักในการชมลูกง่ายๆ คือ

  1. ชมลูกอย่างจริงใจ
  2. ชมในสิ่งที่ลูกทำหรือพยายามทำ มากกว่าบอกแค่ว่า เก่งมาก ดีมาก
  3. ไม่ชมพร่ำเพรื่อหรือในสิ่งที่ดูธรรมดา (ชมตามวัยของลูก เช่น อยู่ ป.1 แต่กลับชมลูกว่า เก่งมากที่แปรงฟันเองเป็น)  
  4. ไม่ชมลูกโดยเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น

แค่พ่อแม่รู้จักชมลูกและชมให้เป็น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้ลูกเป็นเด็กน่ารักได้ไม่ยากเลย

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

ตั้งสติก่อนตำหนิลูก

โดยธรรมชาติแล้ว เราไม่ชอบให้ใครติหรือว่าหรอกค่ะ ถึงจะเป็นคำติที่เจตนาดีก็ตาม แต่ถ้าไม่มีศิลปะในการพูดคนฟังก็อาจขุ่นเคืองหรือต่อต้านได้ง่ายๆ ยิ่งในเด็กเล็กๆ พ่อแม่ต้องยิ่งใส่ใจมากหากจะต่อว่าหรือตักเตือนเขา วันนี้เรามีวิธีตำหนิลูกง่ายๆ อย่างสร้างสรรค์มาฝากกันค่ะ

1. ลูกทำผิดให้ตำหนิที่พฤติกรรมของเขา ไม่ใช่ตำหนิที่ตัวเขา เช่น ลูกลอกการบ้านเพื่อน พูดคำหยาบ แกล้งเพื่อน ขโมยของเพื่อน แม่ไม่ควรพูดว่า “ลูกแย่มากที่ทำตัวแบบนี้” แต่ควรพูดว่า “แม่เสียใจที่ลูกทำแบบนี้ และเพื่อนก็คงเสียใจเหมือนกัน…” การตำหนิที่พฤติกรรม จะแสดงให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่ไม่ชอบ ไม่ยอมรับพฤติกรรมไม่ดี ไม่น่ารักของเขา ไม่ได้แปลว่า เกลียดหรือไม่รักเขา

2. ให้โอกาสลูกอธิบายเหตุผลก่อนตำหนิเขา (แม้บางครั้งพ่อแม่อาจรู้ว่าลูกกำลังโกหกอยู่ก็ตาม) ตรงนี้จะช่วยทำให้ลูกเชื่อใจและมั่นใจที่จะเล่าหรืออธิบายว่าทำไมจึงทำแบบนั้น ขณะฟังพ่อแม่ก็ต้องแสดงท่าทีตั้งใจฟัง นิ่ง สงบ เสร็จแล้วลูกจะถูกหรือผิด เราจึงค่อยๆ ให้เหตุผลว่า อะไรควรทำหรือไม่ควร ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

3. ไม่ตำหนิหรือเปรียบเทียบลูกต่อหน้าคนอื่น เพราะเด็กจะรู้สึกเสียหน้าและอาย ซึ่งไม่เกิดผลดีอะไร ตรงกันข้ามถ้าเมื่อไหร่ลูกทำดีก็ต้องชมลูกทันที เช่นเดียวกันชมที่พฤติกรรมของเขาเป็นสำคัญ เช่น ”ลูกช่วยคุณยายล้างผักเก่งมากจ้ะ น่ารักจัง”

คำพูดแนะนำที่อ่อนโยนและเข้าใจมีส่วนสำคัญมากต่อพฤติกรรมของลูก ไม่ว่าคำตักเตือน หรือคำชม พ่อแม่จึงควรเลือกใช้คำพูดที่ดีต่อใจลูกเสมอ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

Check our Products on Sale!

เทคนิครับมือลูกชอบเถียง

บ้านไหนมีลูกชอบต่อปากต่อคำกับพ่อแม่บ้าง พ่อแม่พูดหนึ่งประโยค ลูกเถียงกลับมาสามประโยค ถ้าพ่อแม่ใจเย็นก็ดีไป ไม่เกิดเรื่อง แต่ถ้าบ้านไหนพ่อแม่ใจร้อน โมโหง่าย คราวนี้เจ้าตัวเล็กอาจจะถูกหวดก้นลายได้ง่ายๆ เรามีวิธีแก้ปัญหาลูกชอบเถียงมาฝากกันค่ะ

1. พ่อแม่ต้องใจเย็น แล้วสอนให้ลูกใช้เหตุผล รู้จักรับฟัง และเคารพความเห็นของผู้อื่น  ถ้าลูกเถียง  พ่อแม่ควรหยุดฟัง อย่าเพิ่งโต้ตอบ ให้เด็กได้ถ่ายทอดความคิด ความต้องการ ความรู้สึกของตนเองออกมาเป็นคำพูด  พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี  ไม่โมโห ฉุนเฉียว ลูกจะได้เรียนรู้ว่าการพูดคุยด้วยเหตุผลกับอารมณ์นั้นให้ผลต่างกันอย่างไร

2. ไม่ใช้กำลังลงโทษลูก เพราะการลงไม้ลงมือ มีแต่จะส่งผลเสีย ทำให้เด็กต่อต้าน แต่ควรสอนลูกด้วยเหตุผลว่าเราคิดต่างกันได้ แต่ต้องไม่ใช้อารมณ์ในการพูดคุย  อาจถามลูกว่า “ทำไมจึงคิดเช่นนี้”  “ทำไมไม่ทำตามสิ่งที่พ่อแม่บอก” แล้วรับฟังลูกอธิบาย ที่สำคัญพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างเวลาพูดคุยกันด้วยค่ะ เช่น ไม่ตะโกนหรือตะคอก เพื่อไม่ให้ลูกเอาอย่าง

3. เปิดใจรับฟัง เด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดและเหตุผลเป็นของตนเอง คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องแล้ว มักทำในสิ่งตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอก พ่อแม่ก็อย่าเพิ่งดุด่า แต่ควรเปิดใจรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด  จะทำให้พ่อแม่ได้รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูก และช่วยกันแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

สุดท้ายแล้วบ้านไหนอยากให้ลูกรู้จักฟังอย่างมีเหตุผล ไม่เถียง ทะเลาะกับพ่อแม่ ผู้ใหญ่ก็ต้องรู้จักใช้เหตุผลคุยกับลูกเช่นกัน  เด็กจะเข้าใจ กล้าพูด กล้าคุย ไม่โกหกปิดบังพ่อแม่ และรู้จักแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

อยากให้ลูกสอบได้ ทำยังไงดี

ผู้ปกครองส่วนใหญ่คาดหวังให้ลูกวัยอนุบาลได้เข้าเรียนโรงเรียนประถมดีๆ  มีชื่อเสียง และโรงเรียนสาธิตก็ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกได้เข้าเรียน และแน่นอนว่าต้องมีการแข่งขันกันสูง แม้ว่าถึงที่สุดแล้วโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งหลายจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้ลูกเก่ง ดี มีสุขก็ตาม แต่ถ้าอยากให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังกันจริงๆ พ่อแม่ก็ควรต้องเตรียมพร้อมวางแผนให้ลูกแต่เนิ่นๆ ดังต่อไปนี้              1. ชวนลูกฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ  เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้ลูกด้วย แต่อย่าฝืนจนลูกรู้สึกไม่สนุกและไม่อยากทำ   แบ่งเวลาให้เหมาะสม เริ่มต้นจากใช้เวลาสั้นๆ ก่อน เช่น หลังเลิกเรียน

 

ใช้แทบเล็ตอย่างไรให้ปลอดภัยในเด็กเล็ก

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือหรือแทบเล็ตกลายเป็นอีกอวัยวะที่หลายคนขาดไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ และการจ้องหน้าจอเหล่านั้นนานๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาด้วย เรียกว่า Computer Vision Syndrome หรือ CVS คือ กลุ่มอาการทางสายตา เช่น ปวดตา แสบตา ระคายเคืองตา ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป ที่น่าตกใจก็คือ ปัจจุบันมีแนวโน้มพบอาการนี้ในเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การที่เด็กๆ อ่านหรือเล่นแทบเล็ตบ่อยๆ มีผลวิจัยระดับนานชาติหลายชิ้นรายงานตรงกันว่า ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสายตาสั้นได้มาก เพราะต้องเพ่งมองหน้าจอสว่างระยะใกล้ เป็นเวลานานๆ ซึ่งหน้าจอแทบเล็ต รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ มือถือ ไฟหน้ารถยนต์ จะมีแสงสีฟ้า (blue light) เป็นแสงช่วงความยาวคลื่นต่ำ แต่มีพลังงานสูง สามารถทำลายจอประสาทตาได้ทำให้เกิดผลเสียต่อดวงตาในระยะยาว

ในทางการแพทย์โดยสมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแทบเล็ต เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้แล้ว ยังก่อให้เกิดโทษด้วยทั้งปัญหาสายตา สมาธิสั้น และทักษะทางสังคม

สำหรับเด็กวัย 2 ปีขึ้นไป หากจำเป็นต้องใช้แทบเล็ตจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปฏิบัติดังนี้

1. จำกัดการเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเล่นติดต่อกันนานเกิน 30 นาทีต่อครั้ง สลับกับการพักสายตาไม่น้อยกว่า 30 วินาที

2.  นอกจากนั้นควรปรับความสว่างหน้าจอให้สบายตาที่สุด ไม่สว่างมากหรือน้อยเกินไป อาจติดฟิลม์หรือใช้แอพพลิเคชันกรองแสง เพื่อไม่ให้แสงแยงตามากเกินไป ปรับขนาดอักษรใหญ่เห็นชัดเจน  ไม่ให้เด็กจ้องมองจอระยะใกล้เกินไป ควรห่างประมาณ 1 ฟุต (1 ไม้บรรทัด)

แม้ว่าเราจะปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์โซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ได้ แต่จำเป็นที่เราต้องฉลาดใช้และเท่าทันอันตรายที่อาจแฝงมากับความทันสมัยโดยไม่รู้ตัวค่ะ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)