ใช้แทบเล็ตอย่างไรให้ปลอดภัยในเด็กเล็ก

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือหรือแทบเล็ตกลายเป็นอีกอวัยวะที่หลายคนขาดไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ และการจ้องหน้าจอเหล่านั้นนานๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาด้วย เรียกว่า Computer Vision Syndrome หรือ CVS คือ กลุ่มอาการทางสายตา เช่น ปวดตา แสบตา ระคายเคืองตา ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป ที่น่าตกใจก็คือ ปัจจุบันมีแนวโน้มพบอาการนี้ในเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การที่เด็กๆ อ่านหรือเล่นแทบเล็ตบ่อยๆ มีผลวิจัยระดับนานชาติหลายชิ้นรายงานตรงกันว่า ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสายตาสั้นได้มาก เพราะต้องเพ่งมองหน้าจอสว่างระยะใกล้ เป็นเวลานานๆ ซึ่งหน้าจอแทบเล็ต รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ มือถือ ไฟหน้ารถยนต์ จะมีแสงสีฟ้า (blue light) เป็นแสงช่วงความยาวคลื่นต่ำ แต่มีพลังงานสูง สามารถทำลายจอประสาทตาได้ทำให้เกิดผลเสียต่อดวงตาในระยะยาว

ในทางการแพทย์โดยสมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแทบเล็ต เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้แล้ว ยังก่อให้เกิดโทษด้วยทั้งปัญหาสายตา สมาธิสั้น และทักษะทางสังคม

สำหรับเด็กวัย 2 ปีขึ้นไป หากจำเป็นต้องใช้แทบเล็ตจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปฏิบัติดังนี้

1. จำกัดการเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเล่นติดต่อกันนานเกิน 30 นาทีต่อครั้ง สลับกับการพักสายตาไม่น้อยกว่า 30 วินาที

2.  นอกจากนั้นควรปรับความสว่างหน้าจอให้สบายตาที่สุด ไม่สว่างมากหรือน้อยเกินไป อาจติดฟิลม์หรือใช้แอพพลิเคชันกรองแสง เพื่อไม่ให้แสงแยงตามากเกินไป ปรับขนาดอักษรใหญ่เห็นชัดเจน  ไม่ให้เด็กจ้องมองจอระยะใกล้เกินไป ควรห่างประมาณ 1 ฟุต (1 ไม้บรรทัด)

แม้ว่าเราจะปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์โซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ได้ แต่จำเป็นที่เราต้องฉลาดใช้และเท่าทันอันตรายที่อาจแฝงมากับความทันสมัยโดยไม่รู้ตัวค่ะ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *